วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิชาชีพสถาปนิกในทรรศนะคติของข้าพเจ้า



                  สมัยมัธยม ในวัยกระเตาะ วิ่งเล่นไปมาที่สตรีวิทยานั้น เป็นช่วงชีวิตที่นึกขึ้นมาทีไรก็จะเห็นภาพของการไปดูคอนเสิร์ตของศิลปินค่ายเพลง Loveis  เป็นค่ายเพลงของบอยด์ โกสิยพงษ์  การตามไปดูคอนเสิร์ตฟรีทุกอาทิตย์กับเพื่อนสาว ทำให้ฉันที่ชอบในเสียงดนตรีอยู่แล้วนั้นเกิดอยากเป็นแบบนั้นบ้าง การได้ร้องเพลงทั้งวันคงจะมีความสุขมากๆ ที่กล่าวมานั้นมันเป็นเพียงแค่ความฝันที่เสริมโลกความจริงอยู่ ในเมื่อไปไม่ได้บางทีเราก็ต้องเลือกทางคู่ขนานที่ยังคงเห็นเส้นความฝันอยู่ที่พอจะเดินไปไหว พอมาเริ่มค้นหาตัวเองก็พบว่าน่าจะไปทางด้านศิลปะได้ แต่จะทำอะไรดีนั้นก็ต้องค้นหากันไป เริ่มจากไปเรียนศิลปะวาดๆเขียนๆพบว่าทำได้และมีความสุขในระดับหนึ่ง ใจลึกๆตอนนั้นอยากเรียนศิลปอุตสาหกรรมและก็ลังเลกับสถาปัตยกรรม แต่ด้วยคำปรึกษาของพี่ชายที่เป็นมัณฑนากรว่า เรียนสถาปัตย์ทำได้ทุกอย่าง ถ้ายังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆก็เรียนด้านนี้ไปก็ได้ และอีกอย่างศิลปอุตสาหกรรมในเมืองไทยหางานยากกว่า ด้วยคำพูดทั้งหลายนี้ทำให้หันเหมาเรียนสถาปัตย์ในวินาทีสุดท้าย จนได้มายืนที่จุดนี้

                  ถ้าถามว่า ย้อนเวลากลับไปยังจะเลือกเรียนแบบนี้หรือไม่ ตอบว่าคงจะเลือกศิลปะอุตสาหกรรมมากกว่า เป็นเรื่องแปลกดี ที่การทำความรู้จักกับตัวเองกินเวลานานขนาดนี้ทั้งๆที่เป็นตัวเราแท้ๆ  แต่ยังไงก็ตามการที่เราได้มาเรียนสถาปัตยกรรมนี้ก็ได้เรียนรู้ศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ได้ประสบการณ์ เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เป็นพื้นฐานที่จะส่งเสริมอาชีพของตนเองต่อไป ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็ตาม คิดว่าศาสตร์นี้สามารถนำไประยุกต์ใช้ได้หมด เพราะสถาปัตยกรรมศาสตร์สอนกระบวนการคิด วิเคราะห์ การออกแบบ ความกล้าแสดงออก ความรับผิดชอบ ลาดกระบังสอนการใช้ชีวิต ความทรหด ความพื้นถิ่นและเป็นมิตรกับทุกสิ่งอย่าง

                  ตั้งแต่ปี 1 วิชา delination ทำให้คนที่เกลียดการวาดรูปอย่างฉัน หันมารักได้ การเรียนวิชาเทคโนโลยีทางอาคารและวิชาการออกแบบนั้น ทำให้เริ่มเข้าใจว่าสถาปนิกต้องทำอะไรบ้าง เริ่มฝึกฝนเคล็ดลับวิชาความรู้ต่างๆ เห็นงานพี่ปีโตแล้วก็ไม่อยากจะคิดถึงตอนที่เลื่อนชั้น คิดว่าพี่เค้าทำได้ยังไง เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากๆ แล้วเราจะทำได้เหรอ ปีหนึ่งนี้เป็นปีที่เริ่มทำความรู้จักกับอาชีพสถาปนิกและเริ่มรู้จักกับสถาปัตย์ ลาดกระบัง จากเด็กก็เติบโตขึ้นแบบไม่รู้ตัว การอยู่หอถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้โตขึ้นด้วย  รักและคิดถึงป๊าม๊ามากขึ้น คนเรามักจะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวจนกว่าจะไม่มีสิ่งเหล่านั้น







                  ปี 2  ออกแบบบ้าน บ้าน อพาร์ทเมนต์และรีสอร์ทเล็กๆ ทำไปเรื่อยๆ ไม่เคยเข้าใจคำว่า concept  ไม่รู้ว่างานที่ดีต้องทำอย่างไร จนมาถึงบ้านหลังที่สองที่ตรวจกับอาจารย์พรพุฒิ ก็เข้าใจเรื่องราวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการมองที่ว่างในงานสถาปัตยกรรม  ปีสองนี้เริ่มเป็นพี่ที่ต้องดูแลน้องๆปีหนึ่ง งานที่เยอะขึ้นทำให้มีความรับผิดชอบ การอดทน อดกลั้นต่อตนเองมากยิ่งขึ้น เข้าใจคำเตือนของรุ่นพี่หลายๆคนแล้ว ที่ชอบห้ามว่าอย่ามาเรียนคณะนี้เลยแต่ก็ไม่เคยเชื่อเพราะคิดว่าเป็นคำขู่แต่จริงๆแล้วพี่ๆเขาพูดมาจากส่วนลึกของจิตใจจริงๆ ปีสองนี้ถือว่าเป็นปีที่หล่อหลอมรากฐานความรู้และชีวิตให้โตขึ้นอีกก้าว แทบจะรอให้ถึงปีสามที่พี่ๆบอกกันว่าเรียนสบายๆ ชิลๆ ไม่ไหวแล้ว





                   ปี 3  พบว่าคำที่พี่ๆบอกกล่าวมานั้นเป็นความจริงอยู่น้อย มีทั้งช่วงที่งานน้อยและเยอะปะปนกันไป คิดว่างานเท่ากับปีสอง แต่เป็นเพราะเราผ่านมาแล้วสามารถจัดการเวลา จัดการตนเองได้ ทำให้รู้สึกเบา สบายในปี 3 นี้นั่นเอง ปีสามเริ่มได้ออกแบบอาคารสาธารณะมากขึ้น เริ่มเรียนรู้อาคารที่ตอบสนองคนจำนวนมาก การสัญจร เริ่มฝึกสมองและความรอบคอบมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้เริ่มไม่แน่ใจกับการเป็นสถาปนิกของตนเองว่าเส้นทางนี้จะสามารถอยู่กับมันไปตลอดได้หรือไม่  เริ่มรู้สึกตัวว่าโตขึ้นมากๆแล้วเริ่มคิดถึงอนาคต การงาน การเงิน และความสุขมากขึ้น
การเรียนคณะนี้ทำให้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตมากขึ้นอย่างมากเพราะงานที่เยอะทำให้เราอยากออกไปเที่ยว ออกไปท่องโลก ออกไปสนุก ออกไปมองสิ่งมหัศจรรย์ในโลกนี้มากขึ้น ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตที่ยังมีแรงไปไหนต่อไหนได้



                    ปี 4 เป็นปีสู่โลกแห่งความจริง ประตูของความเป็นผู้ใหญ่เปิดรับแล้ว เพื่อนๆที่เรียนคณะอื่นจะจบกันหมดแล้ว เปลี่ยนเข้าสู่วัยทำงาน พึงระลึกได้ว่านี่เราโตแล้วน่ะ มองเพื่อนๆที่อยู่เคียงข้างกันมา เห็นเพื่อนๆเปลี่ยนไปเป็นสาวแล้ว ทุกคนแก่ลงและโตขึ้น ถึงตอนนี้อยากจำทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นในคณะ ชีวิตมหาลัยให้มากที่สุด เพราะกำลังจะเลยผ่านไปแล้ว เพื่อนๆในห้องทั้ง83คน หลังจากจบไปแล้วต้องมีคนที่จะไม่ได้เจอกันอีกต่อไปแน่ๆ ตอนนี้คิดถึงอนาคตตนเองเริ่มแสวงหาเส้นทางอีกครั้งหนึ่ง





                     ทีสิสที่จะทำในปีหน้า คิดว่าจะทำเกี่ยวกับอาหารเพราะเป็นสิ่งที่อยู่กับเรื่องนี้ได้อย่างมีความสุขและมีแรงใจที่จะลุกขึ้นมาทำในทุกๆวันตลอด 3 เดือน แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้น่าสนใจ
                      การเรียนวิชาการประกอบวิชาชีพชอบมากๆ เพราะทำให้รู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับเส้นทางนี้ มีอีกหลายอาชีพในสาขานี้ที่เราสามารถเอนเอียงไปทำได้นอกจากการออกแบบอย่างเดียว การเป็นสถาปนิก อาจารย์บอกอยู่เสมอว่าไม่ใช่แค่ออกแบบ แต่เป็นการจัดการระบบและรู้จักคน ประสานงาน จัดการกระบวนการต่างๆจนออกมาเป็นงานสถาปัยกรรมชิ้นหนึ่งๆ วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญไม่ต่างอะไรจากหมอเลย เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวกับทรัพยากรและความเป็นไปของสังคมบนโลกใบนี้
                      หลังจากจบการศึกษาไปแล้ว คิดว่าจะทำเกี่ยวกับด้านที่เรียนมาสัก 2-3 ปี ต่อจากนั้นก็เดินไปตามเส้นทางที่มีโอกาสจะทำ อาจจะเดินทางนี้ต่อไปหรือเปลี่ยนแนวทางไป ตามช่วงชีวิตตอนนั้นที่มีโอกาส แต่ตอนนี้เริ่มสนใจเกี่ยวกับการทำรายการโทรทัศน์ การทำโฆษณา งานcreative ที่มีสเกลงานเล็กกว่างานสถาปัตย์  ใฝ่ฝันชีวิตที่มีที่ดินสวยงามอยู่ต่างจังหวัดมีไร่ สวน รีสอร์ท เล็กๆ อยู่ตามธรรมชาติ พึ่งพาธรรมชาติ ปลูกข้าว ผักผลไม้ กินเอง อยากศึกษาเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ รู้สึกว่าการมีชีวิตแบบนั้นมีความสุขดี หลีกเลี่ยงชีวิตกิเลสในเมือง ใช้ชีวิตตอนแก่อย่างสงบ

                        สถาปนิก Idol คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี  ศิลปินแห่งชาติ เคยดูประวัติท่านจากรายการสยามศิลปิน ท่านฝึกฝนการวาดลายไทยตั้งแต่เด็ก ไปสเกตลายไทยตามวัดต่างๆ ช่วยงานช่างปั้นปูน ลงมือทำด้วยตนเอง มีความขยันหมั่นเพียร จากเด็กต่างจังหวัดก็สามารถสอบติดสถาปัตย์จุฬาได้ และสืบสาน ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กไทยรุ่นหลังต่อมา และสร้างสถาปัตยกรรมไทยต่างๆมากมายในต่างประเทศให้ชาวโลกได้เห็นความงามในงานสถาปัตยกรรมไทย นับว่าท่านเป็นบุคคลที่สำคัญของประเทศไทยเลยทีเดียว





สถาปัตยกรรมไทยที่แคนาดา ออกแบบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี



                        สถาปนิก Idol ของฉันอีกคนก็คือ รองศาสตราจารย์วิวัฒน์ เตมียพันธ์หรืออาจารย์จิ๋ว นั่นเอง ส่วนใหญ่มักจะสร้างเทคโนโลยีคิดค้นพัฒนางานสถาปัตย์ไปเรื่อยๆ ให้ล้ำสมัยแปลกใหม่ แข่งขันกันใช้ทรัพยากรมาสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ แต่อาจารย์จิ๋วท่านมองถิ่นฐานศึกษาสถาปัตยกรรมท้องถิ่นในแต่ละที่อย่างลึกซึ้งและรู้จริง ท่านจะสอนเตือนสติให้เราเอาของเก่ากลับของใหม่มาใช้ พัฒนาให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เท่าทันโลก ไม่โดนระบบทุนนิยมครอบงำ 








                         สถาปัตยกรรมที่ชื่นชอบคือ  six sense soneva  kiri  resort  ที่เกาะกูด ออกแบบโดยบริษัท habita เป็นหลัก ชอบที่มีกลิ่นอายพื้นถิ่น เป็นไม้ไผ่ มี spaceที่แปลกใหม่ เช่น ร้านอาหารที่ออกแบบที่นั่งเป็นรังนกแขวนอยู่บนต้นไม้  ส่วนของเด็กเลนที่ชื่อว่า the den ที่ทำจากไม้ไผ่ทั้งทั้งหลัง เป็นต้น  รีสอร์ทแห่งนี้ออกแบบโดยที่ตัดต้นไม้ให้น้อยที่สุด มีการเคารพที่ตั้งและใส่ใจทรัพยากร ภูมิทัศน์โดยรอบอีกด้วย






                          ช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้จะไปฝึกงานที่ เคส ทำเกี่ยวกับสถาปนิกชุมชน เพราะปีสองเคยไปฝึกที่ Design develop มาแล้วจึงได้สัมผัสชีวิตพนักงานออฟฟิศมาบ้าง ระบบการทำงานในออฟฟิศมาแล้ว จึงอยากลองออกไปก่ออิฐ ฉาบปูนทำงานเพื่อสังคม เรียนรู้ผู้คน สัมผัสชีวิตจริงดูบ้าง น่าจะได้เรียนรู้การออกแบบเพื่อชุมชน และเข้าถึงความเป็นจริงมากขึ้น ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมจริงๆ


                          ปาป๊า ของฉัน เลี้ยงฉันมาไม่เคยตี จะสอนเรื่องราวเล่าชีวิตของตนเองที่เคยขับสามล้อ ขับแท็กซี่มาก่อน สอนให้สู้ชีวิต มีความกตัญญู รู้จักบุญคุณคน ถึงแม้ว่าฉันจะไม่เคยเห็นปาป๊าไปทำบุญ ใส่บาตรที่วัด แต่เรื่องการให้ทาน บอกได้เลยว่าไม่แพ้ใคร ปาป๊าฉันมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและเชื่อในการทำความดี ฉันซึมซับส่วนนี้ของพ่อมาอย่างเต็มที่ ในเรื่องการเรียน ปาป๊าของฉันไม่เคยมาหาที่เรียนพิเศษให้เหมือนพ่อแม่คนอื่นๆ ไม่ถามถึงเรื่องที่โรงเรียน การบ้าน เมื่อก่อนฉันรู้สึกน้อยใจบ้าง แล้ววันหนึ่งฉันก็เข้าใจแล้วว่าปาป๊าไว้ใจฉันมาก สำหรับลูกผู้หญิง พ่อคนอื่นๆมักจะหวงมากขอไปไหนก็ไม่ค่อยได้ไป แต่สำหรับฉัน ปาป๊าให้ไปเกือบทุกที่ แต่ก็จะเตือนเสมอว่าให้ระวังตัว ฉันรู้ว่าปาป๊าไว้ใจฉันมาก ปล่อยให้ฉันอยากเรียนในด้านที่ชอบ ไม่เคยบอกเลยว่าอยากให้ฉันเรียนเรียนอะไร ป่าป๊าบอกว่าเรียนอะไรก็ได้ เอาที่เราชอบก็พอ หลังจากข้าเรียนแล้วปาป๊าก็บ่นว่าไม่กลับบ้าน จะขายบ้านทิ้งแล้วนะ บางทีฉันก็บ่นว่าเหนื่อย ปาป๊าบอกว่า อย่าไปหักโหมมาก ไม่ต้องเอาเกียรตินิยมมาให้ป๊าหรอก เรียนให้จบก็พอแล้ว  ปาป๊ากับหม่าม๊าเป็นแรงใจให้ฉันเสมอเวลาฉันท้อแท้และเหนื่อยกับการทำงาน ฉันคิดเสมอว่าต้องมีงานทำมีเงิน ดูแลป๊าม๊าให้มีความสุขเหมือนที่พวกเขาดูแลฉันให้เติบโตมาอย่างสบายจนถึงวินาทีนี้   



                            ถ้าได้เดินทางนี้ต่อไปจนได้ชื่อว่าสถาปนิกแล้ว เป้าหมายในชีวิตคงจะนำภูมิปัญญาไทยเข้ามาปรับใช้กับงานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบ  เหมือน เช่น บ้านญี่ปุ่นจะมีกลิ่นอายญี่ปุ่นที่คนออกแบบทั่วโลกสามารถสัมผัสได้ แต่งานไทยยังไม่มีแบบนั้นเพราะเรามัวแต่ตามต่างชาติเยอะเกินไป  ถ้าได้เป็นสถาปนิกหรือประกอบอาชีพใดๆก็ตาม ต้องประพฤติให้ถูกจรรยาบรรณของอาชีพนั้นๆ เริ่มพัฒนาประเทศที่ตัวเราเอง แล้วอุทิศตนทำประโยชน์เพื่อสังคมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นงานไหนๆต้องคิดถึงการคืนกำไรสู่สังคมเพราะประเทศไทยยังคงต้องพัฒนาด้านสำนึกอีกมาก